วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ทำความรู้จัก Honda C
รถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นที่แม่ๆ ป้าๆ ใช้ขี่ไปตลาดจับจ่ายซื้อของเป็นที่คุ้นตา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด วันนี้กลับเป็นที่ชื่นชอบของคนหนุ่มสาวในเมืองหลวง พยายามขวนขวายหามาเป็นเจ้าของสักคัน จากนั้นนำมาแปลงโฉมจนสวยงามเอี่ยมอ่อง แม้เจ้าของเดิมมาเห็นก็อาจจะจำไม่ได้ โดยเฉพาะราคาที่เปลี่ยนไปจนแม่บ้านหลายคนต้องแปลกใจว่าอย่างนี้ซื้อรถใหม่ไม่ดีกว่าหรือ ? ความ “คลาสสิก” คงจะเป็นคำตอบเดียวที่ผู้นิยมรถเก่ารุ่นนี้จะอธิบายแทนความหลงใหลของพวกเขาได้ แม้จะวิ่งไม่เร็ว ซิ่งไม่ได้ แต่ความภาคภูมิใจเวลาขี่รถคันเก๋แปลกตาบนท้องถนน คงเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากรถรุ่นใหม่เครื่องแรงทั่วไป รถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า ซี เริ่มเข้ามาขายในเมืองไทยตั้งแต่ปี 1958-1959 โดยเริ่มจากรุ่นที่มีไฟหน้าติดตั้งอยู่บริเวณด้านบนส่วนหน้าของรถ หรือที่เรียกว่ารุ่นไฟบนนั้นจะเข้ามาก่อน จากนั้นรุ่นไฟล่างจึงตามเข้ามาทีหลังในปี 1966 แต่เพิ่งไม่กี่ปีมานี้เองที่ฮอนด้า ซี ได้รับความนิยมจากนักเล่นรถเก่า ซึ่งไม่ใช่เพียงกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีคนทำงานที่ชอบเก็บสะสมรถโบราณอีกด้วย ฮอนด้า ซี นี้คือรหัสของรถรุ่นพวกนี้ มันก็จะมีแยกไปเป็นซี 50 ,ซี 65,ซี 70,ซี 90 และก็ซี 100 ตัวเลขก็คือซีซีของรถ อย่างซี 50 ก็คือ 50 ซีซี ซี 90 ก็รถ 90 ซีซี” ภาสกร ปั้นเพชร หรือแบงก์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนาซี อธิบายถึงความแตกต่างของรถแต่ละคันที่จอดโชว์อยู่ให้ฟัง ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกแต่ละรุ่นนั้นจะดูคล้ายกัน “เขาจะดูกันที่ถังน้ำมัน ซี 70 ก็จะเป็นรุ่นที่ใหม่หน่อย ถังน้ำมันจะเชื่อมติดกับบังโคลนหลัง แต่ถ้าเป็นตัวเก่าหน่อยก็จะเป็นซี 50 ถังน้ำมันจะแยกออกได้จากตัวรถ แต่ถ้าเก่ากว่านี้ก็คือ ซี 100 กับซี เอ็ม 90” เขาชี้ให้ดูฮอนด้า ซี 100 สีเขียวไข่กาที่เป็นรุ่นต้นแบบของมอเตอร์ไซค์ 4 จังหวะ ในปัจจุบัน ส่วนซี เอ็ม 90 ที่จอดอยู่ข้างกันนั้น มีกะโหลกไฟโตกว่า และถังน้ำมันจะใหญ่กว่ารุ่นซี 100 กัน เขาก็บอกว่ามันกลับมาได้สักประมาณ 4 ปีแล้ว ราคาตอนนี้ก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว ยิ่งรุ่นที่หายากหน่อยราคาก็จะยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก เช่น ซี 100 และซี เอ็ม 90 แล้วมันก็จะมีอีกรุ่นหนึ่งที่คล้ายๆ รุ่นนี้ คันนั้นจะเป็นสตาร์ทมือ เขาเรียกว่า ซี 102 คันนั้นก็จะแพงมาก น่าจะแพงที่สุดในบรรดารถผู้หญิงด้วยกัน” ราคาของฮอนด้า ซี นั้น จะขึ้นอยู่กับสภาพของรถแต่ละคันและอะไหล่ที่ใช้ รถที่ยังไม่ได้ตกแต่งซ่อมแซมกับตกแต่งเรียบร้อยแล้วก็จะราคาต่างกัน “อย่างซี 50 สภาพที่ทำแล้วแบบนี้ ทางร้านก็จะขายอยู่ที่ราคา 20,000 แล้วมันก็จะมีซี 70 แบบที่มันยังไม่ได้ทำ เป็นสภาพเดิมๆ แบบที่เขาเรียกกันว่ารถบ้าน ตามภาษาพวกรถฮอนด้าด้วยกันเขาจะเรียกว่าสภาพรถแบบแห้งๆ หมายถึงแบบที่สีรถมันนานมาแล้วตั้งแต่สมัย 20-30 ปีที่แล้ว สีมันดูแห้งๆ ก็จะเริ่มตั้งแต่ราคา 5,000 บาทไปจนถึง 10,000 บาท” “มันจะมีเหมือนเป็นออปชันในการขายรถ ว่ารถคันนี้ต่อทะเบียนมาแล้ว มีพ.ร.บ. ถ้ามอเตอร์ไซค์ที่ขายมี คนก็จะสนใจ เพราะเขาจะได้ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องไปเสี่ยงเรื่องกฎหมายบ้านเมืองด้วย รถทำมาแล้วมีทะเบียนก็ราคาหนึ่ง ทำมาแล้วแต่ไม่มีทะเบียนมันก็จะอีกราคาหนึ่ง” เครื่องยนต์ที่ผ่านการทำหรือที่เรียกว่าบิลต์แล้ว จะสามารถวิ่งได้ประมาณ 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากทำเครื่องยนต์เสร็จก็จะเป็นขั้นตอนของการตกแต่ง ทั้งเปลี่ยนเบาะจากเบาะยาวเป็นเบาะคู่หรือเบาะเดี่ยวพร้อมตะแกรงท้ายรถ รวมทั้งการทำสีใหม่ด้วย “บางคนชอบแต่งแบบอนุรักษ์ ก็จะทำสีเป็นโทนสีเดิมๆ คือสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของรถที่ออกมาในตอนนั้น แต่บางคนอาจจะไม่ชอบสีเดิมของรถก็จะมาทำเป็นสีที่เขาเรียกกันว่าสีเบจ คือออกเป็นสีนวลๆ สีครีม สีชมพูอ่อน แล้วก็มีอีกแบบหนึ่งคือ แนวแฟชั่น ที่ทำสีแรงๆ อย่างสีม่วง สีส้ม สีเขียวตองอ่อน แล้วก็จะมาใส่ล้อซี่ลวดที่เขาเรียกว่าขึ้นซี่ลวดถี่ แล้วใส่ยางขอบขาว อยู่ที่ไอเดียของแต่ละคนจะแต่ง” ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบิลต์รถเก่าให้ดูใหม่แต่ละครั้ง แบงก์บอกว่าจะตกประมาณ 15,000-20,000 บาท ทั้งการชุบ ขัดเงา ทำสี อะไหล่ภายในรถและอะไหล่ตกแต่งล้อ ฯลฯ ฮอนด้า ซี ก็คงไม่ต่างจากรถทั่วไป ที่เมื่อมีรุ่นใหม่มาแทนที่รุ่นเก่า ความนิยมก็ย่อมจะลดลง แต่เมื่อถูกจัดให้เป็นรถคลาสสิกแล้วนั้น ก็ย่อมเป็นอมตะไม่มีวันตายหรือสูญหายไปง่ายๆ รอเพียงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะเห็นคุณค่าความสวยงามและกลับมานิยมใหม่อีกครั้ง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
4 ความคิดเห็น:
กรีสสสสส cccccc
สวยดี...แต่ไม่มีตังค์ซื้ออ่ะ
อยากด้ายว่ะ
เอ๊ะ ใช่ คันนี้ป่ะครับที่ ชอบขับมาหมาวิทยาลัย อิอิ
แต่ไงก็ รถคลาสิกดีนะ
แล้วก็เจ้าของใจดีด้วย....มีนครับ
แสดงความคิดเห็น